วันที่ 7 ธ.ค. 2566 ตำรวจ ปปป. , เจ้าหน้าที่ป.ป.ช. , ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. เข้าตรวจค้นภายในสถาบันชีววิทยาทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจับนางจรรยา นักวิชาการพัสดุ (ซี 7) หลังได้รับการร้องเรียนว่า มีเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมทุจริตในการปลอมแปลงเอกสารเบิกจ่ายงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจากการสืบสวนของตำรวจ ปปป. พบว่า นางจรรยากระทำผิดจริง ตามข้อร้องเรียน และมีลูกสาวและลูกเขยร่วมกระทำผิดด้วย
ต่อมาตำรวจยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤนิมิชอบ ภาค1 รวม 3 ราย ในข้อหา " ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐฯ " ตาม ป.อาญา ม.141 ,157 พร้อมขอหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย รวม 6 จุด ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นนทบุรี , สมุทปราการ , กรุงเทพฯ และ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากการตรวจค้นพบทรัพย์สินและเอกสารเบิกจ่ายทิพย์จำนวนมาก และตรวจสอบเส้นทางการเงินของนางจรรยา ตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 จนถึงปัจจุบัน พบความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท โดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สั่งตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี พบความเสียหายรวม 28 ล้านบาท
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า เบื้องต้นในผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวกว่า 30 ปี ได้มีการวางแผน นำลูกสาวเข้ามารับราชการอีกตำแหน่งหนึ่งในองค์กรเดียวกัน เพื่อรองรับการเบิกจ่าย โดยจะมีลูกเขย ตั้งบริษัทเอกชนทำหน้าที่จัดหาวัสดุตามใบเบิกจ่าย โดยนางจรรยา จะสร้างเอกสารเท็จขึ้นมา และปลอมลายมือชื่อผู้ตรวจรับพัสดุ
จากนั้นจะส่งให้ไปฝ่ายที่ลูกสาวทำงานรับช่วงต่อ ซึ่งขบวนการนี้ไม่มีบุคคลอื่นในองค์กรเกี่ยวข้อง โดยทำในรูปแบบของครอบครัว ซึ่งพบว่าทำมานานกว่า 3 ปี มูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้าน แต่จากการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย พบทรัพย์สินเป็นที่ดินรวม 11 แปลง , เงินสด 5 ล้านบาท , รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อห้อดูคาติ 1 คัน และรถยนต์ 1 คันจึงยึดอายัดเพื่อตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจจะขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน และตรวจสอบการเบิกย้อนหลัง 5 ปี พร้อมทั้งขยายผลผู้ร่วมขบวนการ หากพบมีผู้กระทำความผิดจะลงโทษโดยไม่ละเว้น โดยคาดว่า ความเสียหายต่อรัฐฯ จากการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 3 คนสูงกว่า 40 ล้านบาท
©2018 CK News. All rights reserved.