วันที่ 29 พ.ย.2566 ณ ห้อง Meeting Room 210 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าว “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566” ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการ ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการทรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอดระยะเวลากว่า 28 ปี โดยถ่ายทอดเรื่องราวการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืน ตั้งแต่การเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย การบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดอุทกภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย ในรูปแบบ Immersive Exhibition ในแกลลอรี่ทรงหยดน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการออกร้านของร้านโครงการส่วนพระองค์ ร้านพระบรมวงศานุวงศ์ ร้านพึ่งพา และ PAfé ร้านค้ากิตติมศักดิ์ ร้านภริยาเหล่าทัพ ร้านภาคีเครือข่าย และร้านดังจากโลกออนไลน์ กว่า 200 ร้าน และความเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ในการจัดงานครั้งนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการวิ่ง “พึ่งพา RUN” ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพ เป็นภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน ทุกท่านที่มาร่วมวิ่งยังมีส่วนสนับสนุนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้อีกด้วย
โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะประธานคณะ กรรมการอำนวยการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566” พร้อมด้วยคุณฉัตรชัย พรหมเลิศ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ, คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ, ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ และคุณฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย หน่วยงานภาคีเครือข่าย และศิลปิน ร่วมงานแถลงข่าว
ศาสตราจารย์พิเศษสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดงานซึ่งมาจากวิสัยทัศน์และพันธกิจของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินงานตามพระนโยบายของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ “มูลนิธิฯ จะเป็นศูนย์กลางการเป็นเลิศด้านการบรรเทาทุกข์และจัดการภัยพิบัติอันเกิดจากอุทกภัย (Center of Excellence in Flood Relief and Management) ในด้านสังคมและมนุษย์ เน้นการประสานงานกับภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งด้านการป้องกัน เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด หรือมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการสูญเสีย การบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ผ่านพ้นเวลาที่ยากลำบากไปได้ด้วยดี และการฟื้นฟูให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติได้อย่างยั่งยืน จีงจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลเชิงสังคม และนำมาบูรณาการ มองและเข้าใจปัญหาแบบองค์รวม ดำเนินการตามเป้าหมายอันเดียวกัน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาที่เกิดความยั่งยืนให้สังคม” จากพระนโยบายของพระองค์นั้น ปัจจุบันมูลนิธิฯ จึงมุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยแบบครบวงจรและยั่งยืนเป็นศูนย์กลางประสานภาคีเครือข่าย เชื่อมโยง สนับสนุน ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน และขยายงานความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนไปทั่วประเทศ
คุณฉัตรชัย พรหมเลิศ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ได้กล่าวถึงรูปแบบการจัดงานในปีนี้ว่าการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566” ถือเป็นครั้งที่ 12 มีความพิเศษ เนื่องจากย้ายสถานที่จัดงานมายังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นปีแรก ผู้ร่วมงานสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น รูปแบบการจัดงานภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย” สื่อถึงน้ำพระทัยที่ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยและช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยมีพันธกิจหลัก 3 ด้านคือ เฝ้าระวัง บรรเทาทุกข์ และฟื้นฟู ความพิเศษในโซนนิทรรศการคือการจำลองห้องแกลลอรี่ทรงหยดน้ำที่บอกเล่าเรื่องราวการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในรูปแบบ Immersive Exhibition ด้วยเทคนิคการใช้ภาพและเสียง ผู้ที่เข้าไปชมจะรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง โซน “เฝ้าระวัง...เตือนภัยก่อนเกิดอุทกภัย” สาธิตการทำงานของสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเวลาเมื่อเกิดเหตุจริง โซน “บรรเทาทุกข์...ระหว่างเกิดอุทกภัย” นำเสนอกิจกรรม “จัดถุงยังชีพฯ สัญลักษณ์แห่งขวัญและกำลังใจในรูปแบบ Interactive” เชิญชวนร่วมแบ่งปันเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และรับของที่ระลึกแทนคำขอบคุณจากมูลนิธิฯ เรียกได้ว่า “สุขที่ได้แบ่งปัน” กิจกรรม “รถเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ช่วยด้วยใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” การจำลองรถประกอบอาหาร เห็นถึงพระเมตตาที่ทรงมีต่อผู้ประสบอุทกภัย ด้วยอาหารสูตรประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โซน “ฟื้นฟู...หลังเกิดอุทกภัย” พบกับมุมถ่ายภาพฉากจำลองอุทกภัยที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง และบูธโครงการธุรกรรมออนไลน์ แนะแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน หาตลาด และให้ความรู้เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวถึงกิจกรรมวิ่งการกุศล “พึ่งพา Run” ชิงถ้วยประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน และแสดงให้เห็นถึงการร่วมแรง รวมพลังของผู้ที่แข็งแรงช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า รายได้จากการสมัครนำสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ประกอบด้วยระยะ 3 km (เดิน/วิ่ง) และ 10 km (Mini Marathon) รูปแบบการวิ่ง 2 แบบ วิ่งในงาน และ Virtual Run เสื้อวิ่ง และเหรียญวิ่ง ผลิตจากเส้นใยขวดพลาสติครีไซเคิล สอดคล้องกับรูปแบบการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในปี้นี้ คือ Sustainability รณรงค์ให้ทุกหน่วยงานได้เห็นถึงความสำคัญของการนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับโลก กำหนดกิจกรรมงานวิ่งพึ่งพา Run ในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ สวนเบญจกิตติ
ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวถึงกิจกรรมบันเทิงภายในงานในปีนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนจากสถาบันต่างๆ มาแสดงความสามารถ อาทิ วง PetraBand จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วง Satit-Ram Wind Orchestra จากชมรมดนตรีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง, วง Immanuel Orchestra – Music for Life Foundation มูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิต, วงเพชรจรัสแสง คณะการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยแบบร่วมสมัยแนวไทยประยุกต์ จากเวที Thailand’s Got Talent, วง CU Band ชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ผู้ชมงานจะได้ร่วมกิจกรรมสาธารณกุศลร่วมกับศิลปินดังทุกวัน อาทิ 6 ธ.ค. คุณอู๋ ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, 7 ธ.ค. คุณรัดเกล้า อามระดิษ, 8 ธ.ค. คุณปุ๊ อัญชลี จงคดีกิจ และคุณนนทิยา จิวบางป่า, 9 ธ.ค. คุณปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว และ 10 ธ.ค. คุณเท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์ พร้อมร่วมประมูลของรักจากศิลปิน และพบกับร้านดังจากโลกออนไลน์ ทั้งนี้รายละเอียดกิจกรรมในแต่ละวัน ทุกท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ Facebook มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
คุณฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่จะเปิดตัวในงานว่า ในปีนี้ “ร้านพึ่งพา” ร้านสินค้าที่ระลึกของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำผลิตภัณฑ์พึ่งพา ซึ่งเป็นสินค้าที่ระลึกมูลนิธิฯ และผลิตภัณฑ์ยั่งยืนที่ได้มาจากการสนับสนุนการฟื้นฟูอาชีพในชุมชนที่ประสบอุทกภัย มาร่วมจำหน่าย สินค้าพิเศษในปีนี้ คือ จานโชว์ลายกล้วยไม้โสมสวลี ผลิตจำนวนจำกัด และในแต่ละใบมีความพิเศษมีหมายเลขกำกับ, แก้วมัคและเสื้อยืด คอลเลกชั่น "ม้านั่ง" ออกแบบโดย "ครูโต" ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภารกิจของมูลนิธิฯ ที่เป็นทั้งที่พักพิง ที่พึ่งพา ของประชาชนในยามยาก, เสื้อโปโลและเสื้อยืดพึ่งพา คอลเลคชั่นพิเศษ ใช้ผ้าจากดอยตุง และจากชุมชนจ.สุโขทัย ซึ่งเคยประสบอุทกภัย และมูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลือ มาตัดเย็บเป็นกระเป๋าเสื้อยืด และทำสาบเสื้อโปโล นอกจากนี้ยังมีผ้าทอมือ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายจากชุมชน
ร้าน“PAfé สุขที่ได้แบ่งปัน” จำลองอาคารมหินทรเดชานุวัฒน์ ที่ตั้งของร้าน PAfé ในปัจจุบัน ออกแบบให้เป็นมุมถ่ายภาพได้ นำเมนูพิเศษซิกเนเจอร์จาก PAfé อาทิ Drip Coffee ที่ใช้เมล็ดกาแฟสาละวะไล่โว่ กาแฟรักษ์ป่าจากผืนป่าตะวันตก สังขละบุรี กาญจนบุรี ที่พลิกชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน ไอศกรีมแตงโมหน้าปลาแห้ง ที่ดัดแปลงมาจากเมนูของว่างในสมัยก่อน คือ เมนูแตงโมปลาแห้ง และ ไอศกรีมกะทิหน้านวลไส้ไข่เค็ม ดัดแปลงมาจากขนมหน้านวลไส้ไข่เค็ม ซึ่งเป็นขนมที่ขายดีภายในร้าน โดย PAfé ได้ร่วมกับมูลนิธิณภาฯ ในการคิดค้นจัดทำไอศกรีม 2 รสชาติพิเศษนี้ออกมา ซึ่งปกติจะขายในร้าน PAfé พิเศษภายในงานปีนี้ผู้ที่มาร่วมงานจะได้ชิม รวมถึงได้ร่วมสนับสนุนสินค้าจากร้านค้าโครงการส่วนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ร้านค้ากิตติมศักดิ์ และร้านค้าเครือข่ายอีกกว่า 200 ร้าน
©2018 CK News. All rights reserved.