วันที่ 25 พ.ย.2566 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป.นำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย นายจูหลิน ฯ (บอย) อายุ 40 ปี นายณัฐวัฒน์ ฯ (โอ) อายุ 44 ปี นายศุภชัย ฯ (เก้า) อายุ 39 ปี นายภูตะวัน อายุ 43 ปี นายนิธิพัฒน์ ฯ (ไวท์) อายุ 32 ปี น.ส.ปทิตา (แยม) อายุ 37 ปี น.ส.ภัทราภรณ์ ฯ (หญิง) อายุ 37 ปี
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกก.1 บก.ป. ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่าประมาณเดือกรกฎาคม รถยนต์ ยี่ห้อ โตโยต้า ยิริส สีดำ ของตนเองได้ถูกเช่าไปโดย นายภูตะวัน ฯ จากนั้นนายภูตะวันฯ ได้ทำการเชิดรถไป ไม่นำมาคืน ผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ต่อมาผู้เสียหายได้พบรถยนต์คันดังกล่าวถูกโพสต์ประกาศขายบนเพจเฟซบุ๊กชื่อ “นางฟ้า รถหลุดจำนำ” ลักษณะน่าจะเป็นเครือข่ายค้ารถยนต์หลุดจำนำอย่างผิดกฎหมาย จึงมาติดต่อขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยติดตามทรัพย์คืน และจับกุมคนร้ายผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมาดำเนินคดี
ต่อมาตำรวจ กก.1 บก.ป. จึงได้วางแผนล่อซื้อรถยนต์คันดังกล่าว กับเพจ “นางฟ้า รถหลุดจำนำ” นัดหมายสถานที่ส่งมอบรถกันที่บริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงเวลานัดหมายส่งมอบรถ คนร้ายได้นำรถคันดังกล่าวมาให้สายลับตรวจดูก่อนทำการซื้อขาย กระทั่งแน่ใจว่าเป็นรถยนต์ของผู้เสียหายที่แจ้งหายไว้ จึงส่งสัญญาณ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงตัว และทำการจับกุมตัวกลุ่มคนร้าย พร้อมกับยึดรถคันดังกล่าวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด เจ้าของคดี เพื่อนำส่งคืนให้กับผู้เสียหาย โดยขณะนั้นจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบอย, นายเก้า และนายโอ ในข้อหา ร่วมกันยักยอกทรัพย์หรือรับของโจรฯ แต่ไร้ร่องรอยของตัวนายภูตะวันฯ ผู้เช่ารถคันดังกล่าวมาจากผู้เสียหาย
จากการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ทำให้ทราบข้อมูลว่าเครือข่ายคนร้ายที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์หลุดจำนำนั้น จะมีการส่งต่อลูกค้ากินหัวคิวกันหลายทอด โดยแต่ละทอดก็จะมีนายหน้าหักค่าคอมมิชชั่น มีลักษณะเป็นเครือข่ายใหญ่ที่เชื่อมโยงกันด้วยผลประโยชน์ทางการเงิน มีการแบ่งหน้าที่กันทำต่างกันไป เช่น นายทุนที่รับรถหลุดจำนำมาเพื่อปล่อยค้ากำไร, นายหน้าหาลูกค้า, คนทำเพจประกาศขายรถทางออนไลน์, คนหารถป้อนเข้าสู่ขบวนการ และช่างรับถอด GPS เป็นต้น
ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ป. สามารถสืบขยายผลไปยังคนร้ายผู้ร่วมก่อเหตุได้อีก 4 ราย คือ นายไวท์, นายโจ, นายตฤณ และนางสาวแยม ฯ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 4ราย ในข้อหา“ร่วมกันรับของโจร โดยได้กระทำเพื่อค้ากำไร”และสืบสวนขยายผล รวมทั้งติดตามตัวมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
จนล่าสุด นำมาสู่การเปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายรถหลุดจำนำดังกล่าว สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มเติม รวมถึงตัวนายภูตะวันฯ คนต้นเรื่อง และเป็นผู้เช่ารถคันของผู้เสียหายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการล่อซื้อติดตามคืนมาก่อนหน้านี้ จึงนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนของนายโจ หรือนายบรรจงฯนั้น เคยถูกจับกุม และตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขณะที่นายตฤณฯ อยู่ระหว่างการเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี พร้อมเตรียมขยายผลในเครือข่ายนี้ทั้งหมดต่อไป
ทั้งนี้ ระหว่างการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ป. โดยเฉพาะคืนก่อนหน้าวันเปิดปฏิบัติการระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนายไวท์ หนึ่งในผู้ต้อง และยังเป็นนายทุนซื้อขายรถยนต์รายสำคัญ ในขบวนการนี้ เจ้าหน้าที่พบว่านายไวท์มีการปล่อยขายรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค สีเทา ให้กับลูกค้าหญิงรายหนึ่งที่นั่งเครื่องบินมาจากจังหวัดอุดรธานี หลังจากซื้อรถไปแล้วได้ขับขี่มุ่งหน้าไปทางพื้นที่ภาคอีสาน โดยผ่านเส้นทางดังนี้ ไปจ.นครราชสีมาไปยังจังหวัดขอนแก่น ต่อไปยังจังหวัดอุดรธานี ซึ่งจากการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีโอกาสที่จะมุ่งหน้าข้ามแดนไปสู่ประเทศลาว
ทางกก.1 บก.ป. จึงประสานกับกก. 3 บก.ป. ซึ่งรับผิดชอบและมีความชำนาญในพื้นดังกล่าว ให้สะกดรอยติดตามรถคันดังกล่าวไป กระทั่งในเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ป. เข้าตรวจสอบรถคันดังกล่าว ภายในร้านค้ายางรถยนต์แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีนางสาวหญิง แสดงตัวเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว ผลการตรวจสอบพบว่ารถคันดังกล่าวใช้แผ่นป้ายทะเบียนปลอม และยังตรวจพบอาวุธปืนรีโวลเวอร์ จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุนอีกหลายนัดด้วย จึงจับกุมตัวนางสาวหญิง พร้อมตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดร พื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย
ฝากประชาชนตรวจสอบให้ดี ก่อนซื้อ “รถหลุดจํานํา-ราคาถูก” ถ้าไม่ตรวจสอบให้ดี เสี่ยงเสียเงินฟรี แถมอาจถูกดำเนินคดี ‼
- รถหลุดจํานํา ที่ถูกนำมาขายในราคาถูก ส่วนมากเป็นรถติดไฟแนนซ์ ที่ยังผ่อนไม่หมด กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถ ยังคงเป็นของไฟแนนซ์อยู่ดี
- การโอนลอย ไม่ถือเป็นการโอนย้ายกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ เพราะความจริงการโอนย้ายกรรมสิทธิ์ จะต้องไปทำเรื่องอย่างเป็นทางการที่กรมการขนส่ง
- รถที่ไม่ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะไม่สามารถต่อ พ.ร.บ. หรือทำประกันได้
- ถ้าโดนไฟแนนซ์ตามรถเจอ ก็อาจจะโดนยึดรถ
- หากไฟแนนซ์ หรือ เจ้าของรถ ดำเนินคดีอาญากับผู้เช่าซื้อรายแรกในข้อหา “ยักยอก” หรือ
“ลักทรัพย์” เราก็อาจตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันในข้อหา “รับของโจร” อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถจากใคร ไม่ว่าจะเป็นรถหลุดจำนำหรือไม่ก็ตาม ควรศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ดูเอกสารให้เรียบร้อย เพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
©2018 CK News. All rights reserved.