วันที่ 3 พ.ย. 2566 นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง แถลงชี้แจงกรณีสภ.ช้างเผือก จับร้านอาหาร Level9 เชียงใหม่ แล้วพบเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองข้างในร้าน โดยมี พนักงานฝ่ายปกครองชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ร่วมในการแถลงข่าว
นายรณรงค์ กล่าวว่า จากกรณีชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองสนธิกกำลังร่วมกับชุดปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ บุกจับ “เลอเนิร์ฟผับ” ย่านช้างเผือก กลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 พร้อมแจ้งข้อหา 7 ฐานความผิด คือ 1. ตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.จำหน่ายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 3. จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 4. จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด 5. ยุยงส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร 6. โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม 7. ดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองชุดจับกุม จะได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ออกคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี และในส่วนของการดัดแปลงอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นั้น ทางจังหวัดเชียงใหม่ จะได้ประสานกับเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อออกคำสั่ง ระงับการใช้อาคารดังกล่าวต่อไป
“หลังจากจากการจับกุม “เลอเนิร์ฟผับ” ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย. 66 ได้มีการกำหนดแผนการสืบสวนหลังการปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบตามคำร้องเรียนว่า ยังมีสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่หรือไม่ ซึ่งในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง จำนวน 2 นาย ดำเนินการสืบสวนตามคำร้องเรียนต่อ โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 เวลา 00.15 น. ชุดสืบสวนได้ทราบข้อมูลว่ามีสถานประกอบการชื่อร้าน Level 9 ตั้งอยู่ที่ ชั้น 9 อาคารไอคอนไอที อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีการเปิดให้บริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม จึงได้เข้าทำการสืบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับข้อมูล โดยจากการเข้าสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่า สถานประกอบการมีลักษณะเป็นสถานประกอบการแบบร้านอาหาร ไม่ใช่สถานบริการในลักษณะผับบาร์ จึงไม่ต้องมีการขออนุญาตตั้งสถานบริการ และในเวลาดังกล่าว โซนภายนอกร้าน ปิดให้บริการแล้ว แต่ด้านในยังคงมีการเปิดให้บริการอยู่ มีผู้ใช้บริการประมาณ 6 โต๊ะ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก เข้าทำการตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าวพอดี เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจึงได้แสดงตัวและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ และยุติการสืบสวน ในเวลา 03.00 น.และเดินทางกลับ” นายรณรงค์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายรณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าในร้านดังกล่าวมีเยาวชนเข้าใช้บริการอายุต่ำกว่า 20 ปีนั้น ในข้อเท็จจริงทราบว่าเป็นแฟนของบาร์เทนเดอร์ที่มารอรับกลับบ้านหลังเวลาเลิกงานทุกวัน และเจ้าของร้านได้ให้ข้อมูลกับตำรวจสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกขณะที่มีการเข้าตรวจสอบภายในร้านไปแล้ว จึงมีการกันตัวเยาวชนดังกล่าวออกเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในส่วนเรื่องของการดำเนินคดีกับร้าน Level 9 ทราบว่า ตำรวจสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกได้แจ้งข้อหากับผู้จัดการร้านในข้อหาจำหน่ายสุราเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ปรับ 3,000 บาท เท่านั้น และปล่อยตัวผู้จัดการกลับ
“กรณีมีสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวบิดเบือนว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง เลี้ยงฉลองความสำเร็จหลังจับ เลอเนิร์ฟผับ นั้น ขอชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่เดินทางกลับมากรุงเทพฯ ทีมแรกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว และอีกทีมในวันที่ 2 พฤศจิกายน แล้วก็ยังนั่งประชุมกันอยู่ที่กรมการปกครอง (วังไชยา) จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการฉลอง จึงขอฝากไปยังสื่อมวลชนบางสำนักที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ขอให้โอกาสท่านแก้ไขข่าว หากท่านไม่แก้ไขข่าวให้ถูกต้อง จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด หลังจากนี้ วันนี้ (3 พ.ย. 66) เวลา 14.00 น. ท่านได้ทราบข้อเท็จจริงที่ออกจากปากหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ยังไม่มีการแก้ไข หรือนำเสนอข่าวอีกด้านหนึ่ง ก็จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นายรณรงค์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย
นายรณรงค์ ยังกล่าวถึงหลักการทำงานของชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง มี 3 ลักษณะ คือ 1) การรับเรื่องจากศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยที่มีผู้ร้อง แล้วศูนย์ดำรงธรรมจะส่งมาให้เรา เราจะเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วไปปฏิบัติการ 2) ได้รับการประสานของส่วนราชการ หากส่วนราชการใดที่รับแจ้งเหตุหรือมีเบาะแส เช่น กอ.รมน. DSI ตำรวจ ปปส. ที่ประสานมาเป็นลายลักษณ์อักษรเราก็จะไปทำงานด้วยกัน และ 3) ผู้บังคับบัญชาสั่งมากรณีพิเศษ เช่น กรณีผู้บังคับบัญชาได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารจากประชาชนโดยตรง “เราไม่ได้ทำงานตามอำเภอใจ เพราะอยู่บนหลักระเบียบ กฎหมาย และงบประมาณของทางราชการ”
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อจากนี้ เราจะปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ข่าวที่บิดเบือนในครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบกับชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองแต่อย่างใด แต่จะเป็นสิ่งตอกย้ำให้เรามุ่งมั่นทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เสริมสร้างสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และขอเรียนว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีอำนาจการจับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ “พนักงานฝ่ายปกครอง” อันประกอบด้วย นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ หรือตำรวจ ซึ่งการดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดของพนักงานฝ่ายปกครองในช่วงที่ผ่านมามีน้อยมาก เพราะภารกิจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มันกว้างมาก ทั้งเรื่องความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน มิติรักษาความสงบเรียบร้อย แต่เนื่องจากปัจจุบันภัยคุกคามมีเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ได้เน้นย้ำฝ่ายปกครองทุกส่วน ทั้งส่วนกลาง คือ กรมการปกครอง และส่วนภูมิภาค ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้บูรณาการร่วมกับตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่ละฉบับได้บูรณาการในรูปแบบ “ชุดปฏิบัติการจังหวัด/อำเภอ” ซึ่งได้ทำการ Kick off พร้อมกันทั่วประเทศไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อความสงบสุขของประชาชน ต่อจากนี้ เราจะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เราจะไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดกฎหมายได้มีที่ยืนในสังคม
©2018 CK News. All rights reserved.