วันที่ 14 ต.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร เดินทางไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สักการะพระพุทธชินราช ที่วิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก ให้การต้อนรับพร้อมประชาชนและกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงที่พากันมารอที่หน้าวิหารหลวงพระพุทธชินราช โดยกลุ่มมวลชนเสื้อแดงชูป้ายไวนิลสีแดงเล็ก ๆ สนับสนุนเงินดิจิตอลและให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี
จากนั้นได้เดินทางไปที่โรงผลิตน้ำประปาของเทศบาลนครพิษณุโลก ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อตรวจเยี่ยม โดยได้มีการพูดคุยปัญหาน้ำประปาเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง ซึ่ง นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวรายงานว่า ระบบน้ำประปาของพิษณุโลก ใช้งานมา 80 ปี คิดค่าบริการน้ำประปาถูก (เริ่มต้น 4.50 บาทต่อคิว) มีเงินรายได้สะสมไม่เพียงต่อการปรับปรุงระบบน้ำประปา กระทั่งหลายปีที่ผ่านมารับงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท มีอัตราสูญเสียน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ พักน้ำโดยใช้เวลาน้อยมากเพียงไม่กี่วันก่อนแจกจ่ายไปตามบ้านเรือนประชาชน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในช่วงนี้ว่า จะให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นคนดูแลเพราะจังหวัดใหญ่ ๆ มีปัญหาเมืองรองจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้
นายเกรียง กัลปตินันท์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า อยากให้คนพิษณุโลกทำประชาคม จะโอนถ่ายระบบประปาให้การประปาส่วนภูมิภาคหรือไม่ เนื่องจากทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้เสนอของบ 300 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงท่อและระบบพักน้ำ นางเปรมฤดี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ได้กล่าวตอบว่า จะให้ตอบเลยหรือไม่ว่า จะให้โอนหรือไม่ให้โอน ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพูดตัดบทว่า ใครจะดูแลประปานั้นไม่สำคัญ ขอให้ทำน้ำประปาให้ประชาชนพอใจ ท่ามกลางเสียงตบมือและเสียงเฮทันทีของประชาชนที่เข้าไปร่วมรับฟัง
จากนั้น นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.พิษณุโลก ได้นำเสนอขอเขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลกเพื่อกั้นน้ำให้ใสและนิ่ง และง่ายต่อการบำบัดประปา ทางชลประทานพิษณุโลกได้กล่าวสนับสนุนว่า หากก่อสร้างได้ก็จะส่งผลดี เพราะอยู่ห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ 200 กม. ก่อเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ทางการเกษตรจำนวน 38,500 ไร่ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถ้าทำก็จะสามารถก่อสร้างได้ปี 2569 ใช้งบประมาณ 1.6 พันล้านบาท
จากนั้นเวลา 11.30 น. คณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะได้เดินทางไปที่ บึงตะเครง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำสำคัญ และสถานการณ์บึงตะเครง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบางระกำโมเดล โดยมีนายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.ชลประทานพิษณุโลก เป็นผู้บรรยาย โดยบรรยากาศการมาถึงได้มีประชาชนมายืนรอต้อนรับ ทั้งจาก อ.บางระกำ อ.บางกระทุ่ม ซึ่งได้มีการชูป้ายให้กำลังใจ พร้อมป้ายแสดงเจตจำนงสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเลต ซึ่งก่อนหน้าที่ นายกรัฐมนตรีจะมาถึง บรรยากาศในพื้นที่ปรากฏว่าลมพายุ ที่หอบกลุ่มเพลี้ยแป้งจำนวนหลายล้านตัว บินไปเกาะตามตัวเสื้อผ้าชาวบ้านและบินวนรอบพื้นที่บึงตะเครง พร้อมกับมีฝนตกโปรยปรายลงมา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดึงแลนด์ บังแดดออกเพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้พื้นที่รับนายกรัฐมนตรีเป็นพื้นโล่งมีเก้าอี้ให้ประชาชนมานั่งรอรับคณะนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้มอบถุงยังชีพให้ประชาชน อ.บางระกำ และมอบอาหารสัตว์พระราชทาน ให้กับเกษตรกร อ.บางระกำ เพื่อนำไปให้สัตว์เลี้ยง หลังจากบางระกำโมเดลเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ทำให้ในพื้นที่มีสัตว์เลี้ยงเดือดร้อนขาดแคลนอาหารจากภัยน้ำท่วมอีกด้วย
นายเศรษฐา ได้กล่าวกับประชาชน อ.บางระกำ เพียงสั้นๆว่า จากการมาตรวจดูสถานการณ์ที่พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกพบว่าประชาชนต้องประสบปัญหาจากน้ำท่วมและภัยแล้ง และเข้าใจถึงความยากลำบากของประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณตรงนี้ให้มีอาชีพเสริมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจัดกิจกรรมมาลงในพื้นที่บึงตะเครง ซึ่งได้รับรายงานว่าก่อนหน้านี้มีการจัดกิจกรรมเจ็ตสกี ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งก็เข้าใจว่ายังคงมีปัญหาอยู่ จำเป็นต้องมีการให้เงินชดเชยรายได้ ตรงนี้จะพยายามเข้าไปดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ต่อมา ได้เดินทางไป ลงเรือที่จุดชุมชนบ้านปากคลอง ต.บางระกำ เพื่อเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยแม่น้ำยมเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน พร้อมนั่งเรือล่องไปตามบ้านเรือนประชาชนเพื่อนำถุงยังชีพมอบให้ทุกบ้านเรือน กว่า 30 หลังคาเรือน ก่อนเดินทางต่อไปยังพื้นที่ อบต.หอกลอง อ.พรหมพิราม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้ง สร้างแก้มลิงในพื้นที่ทุ่งสาน เขต อ.พรหมพิราม ต่อไป
©2018 CK News. All rights reserved.